ธุรกิจแพลตฟอร์ม Social E-Commerce

Social E-Commerce

โลกในยุคปัจจุบันสามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคของการแพร่หลายทางสังคมออนไลน์ (Social Ubiquity)ประการแรกสืบเนื่องมาจากความก้าวหน้าของอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มาพร้อมกับแอพพลิเคชันที่รองรับการใช้งานในหลากหลายฟังก์ชัน สามารถตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ได้เป็นอย่างมาก อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เป็นที่นิยม อาทิiPhone, iPad, iPodTouch และ Blackberry ประการที่สอง การเจริญเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) ที่มีกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน เป็นสื่อกลางที่ไม่เพียงให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างไม่จำกัด แต่ยังคงให้ผู้บริโภคทำหน้าที่เป็นผู้สร้างข้อมูลข่าวสารไปพร้อม ๆ กับการแบ่งปันสิ่งเหล่านั้นให้กับผู้อื่นทั้งใน และนอกเครือข่ายของตนได้รับทราบ ปัจจัยทั้งสองประการนี้ก่อให้เกิดการขยายตัวของพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เรียกว่า “Social E-Commerce”

Social Commerce เป็นการค้าออนไลน์ประเภทหนึ่งที่มีกลไกตามบริบท หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่ในสังคมมีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและต้องการความร่วมมือกันภายในกลุ่ม ปัจจุบันกระแสความนิยมใน Social Commerce มีเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งสื่อสังคมออนไลน์ที่มียอดผู้ใช้สูงสุดอย่าง Facebook ได้กล่าวถึง Socical Comerce ว่า “ถ้าหากจะคาดเดาเทคโนโลยีที่จะมาแรงในอนาคต คงไม่พ้น Social Commerce เป็นแน่แท้



เครื่องมือหลักของ Social E-Commerce

Social E-Commerce เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ขายปลีกรายย่อย และลูกค้า โดยมีคุณลักษณะพิเศษคือ ความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบระหว่างกันได้ทันทีทั้งนี้เครื่องมือของ Social E-Commerce สามารถจำแนกได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่

1.  การจัดอันดับและความคิดเห็นของลูกค้า (Customer Ratings and Reviews) เป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อขายที่สูงขึ้นได้โดยผ่านลูกค้าที่เคยใช้สินค้า/บริการ ซึ่งอาจเรียกว่า“ลูกค้าประจำ” เกิดความประทับใจในตัวสินค้าที่ซื้อไปหรือบริการที่ได้รับหลังการขายและเข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านประสบการณ์การใช้จริง ลูกค้าประจำยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจัดอันดับสินค้าส่งผลให้การตัดสินใจซื้อสินค้าจากลูกค้ารายใหม่เป็นไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้นการจัดอันดับ และความคิดเห็นของลูกค้าเป็นเครื่องมือที่ร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ใช้ในการทำการตลาด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยินยอมที่จะซื้อสินค้า/บริการ เมื่อได้รับฟังแนะนำ หรือประสบการณ์การใช้สินค้า/บริการจากผู้คนรอบข้าง

2.  ข้อเสนอแนะของผู้ใช้ และการแนะนำผลิตภัณฑ์ (User Recommendations and Referrals) เป็นแนวความคิดพื้นฐานในการนำสื่อดิจิทัลที่มีอยู่มาดึงดูดให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมการซื้อ-ขาย โดยอาจมีข้อเสนอพิเศษให้แก่ผู้ซื้อที่มีการแนะนำ หรือบอกต่อเพื่อน เครื่องมือการทางการตลาดวิธีนี้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างสูง เพราะผู้แนะนำไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และยังมีโอกาสที่จะได้ค่าตอบแทนจากร้านค้าอีกด้วย จัดเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งที่เน้นการพูดแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ที่รู้จักกันในชื่อ Viral Marketing เช่น การส่งข้อความใน Twitter การทำ Social Bookmarking หรือ การให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้ที่แนะนำผลิตภัณฑ์ต่อแก่ผู้อื่น เป็นต้น

3.  เครื่องมือการซื้อ-ขายทางสังคม (Social Shopping Tools) เป็นการนำสื่อเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมา ดำเนินธุรกรรมการซื้อ-ขายสินค้า ซึ่งเป็นช่องทางในการขายสินค้า อีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม เช่น การเปิดร้านค้าบน Facebook และการทำธุรกิจประเภท Group-Buying ที่เรียกว่า “บริการซื้อของแบบกลุ่ม” เป็นต้น

4.  กระทู้ และชุมชนออนไลน์ (Forums and Communities) เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่อยู่คู่อินเทอร์เน็ตมามากกว่า 40 ปีได้แก่ เว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ เช่น การศึกษา การแพทย์ ธุรกิจ เป็นต้น โดยต่างใช้กระทู้ และชุมชนออนไลน์เป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างผู้ใช้หลาย ๆ คน ทั้งนี้ในบางเว็บไซต์ผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูล
ได้จะต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละเว็บไซต์ เช่น พันทิป, Thaiseoboard เป็นต้น

5.  Social Media Optimization (SMO) ในยุคที่ Search Engine เป็นที่นิยมจนได้รับการกล่าวขาน ร้านค้าออนไลน์ต่างหันมาให้ความสนใจในกลยุทธ์การเพิ่มจำนวนคนให้เข้าสู่หน้าเว็บไซต์ร้านค้า โดยใช้ Search Engine เป็นสื่อกลาง ที่เรียกว่า “Search Engine Optimization (SEO)” มาถึงในยุคปัจจุบันที่สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น กลยุทธ์เพื่อใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการชักชวนผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในเว็บไซต์จนเกิดการทำธุรกรรมซื้อขายจึงเกิดขึ้น และเรียกกันว่า “Social Media Optimization (SMO)” ตัวอย่างของกลยุทธ์SMO เช่น การแทรกลิงค์เว็บไซต์ของร้านค้าผ่านวิดีโอบน Youtube หรือ การtag ชื่อเพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายลงบนรูปภาพ

6.  การโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (SocialAdvertising) ปัจจุบันผู้ใช้หลายคนเข้าใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์เสมือนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ไม่สามารถขาดได้เมื่อเข้าสู่โลกไซเบอร์ดังนั้น การลงโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์สามารถผ่านสายตาผู้บริโภคได้ค่อนข้างมาก โดยเงื่อนไขในการทำโฆษณาจะแตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ลงโฆษณาบน Facebook สามารถกกำหนดค่โฆษณาได้โดยความถี่ในการแสดงโฆษณาจะแปรผันตามงบประมาณที่ตั้งไว้